การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2020 ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับประชากรทั่วโลก ส่งผลให้นำไปสู่ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเราแบบนิวนอร์มอล จากก่อนหน้านี้ บางคนอาจให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่นอกร่างกาย แต่การมาถึงของไวรัสโควิด-19 หลายคนเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ใช้รับประทานในทุกๆ วัน ดังนั้นวัฒนธรรมด้านอาหารและสุขภาพจึงเปลี่ยนไป ในปี 2021 จะมีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นที่ให้การสนับสนุนบริษัทหรือองค์กรในท้องถิ่นที่ดำเนินการ
โดยมีเบื้องหลังและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ นั่นคือที่มาของ “อาหารตามวัตถุประสงค์” เพราะผู้บริโภคประมาณ 52% ที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ตนซื้อ โดยเน้นความสำคัญไปที่การซื้อสินค้าภายในประเทศ

ความเป็นท้องถิ่นของอาหารตามวัตถุประสงค์
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้เห็นคุณค่าของชุมชนในท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ตลาดสินค้าเกษตรกร และร้านอาหารรายย่อยที่เตรียมอาหารไว้พร้อมเพื่อการรับประทาน
ตลอดจนผู้ขนส่งอาหารจากร้านค้าชุมชนไปยังผู้บริโภค ดังนั้นในอนาคตจะมีความสนใจในการซื้อและบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้มีความมั่นคง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

ตัวอย่างของแบรนด์อาหารตามวัตถุประสงค์ท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา เช่น กอแธม กรีน ที่ดำเนินการอย่างยั่งยืนทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สามารถผลิตผลผลิตสดๆ ในท้องถิ่นได้ตลอดทั้งปีและลดการส่งอาหารข้ามประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่โครเกอร์ ได้จับคู่กับบริษัทอาหารท้องถิ่นที่ชื่อ อินฟาร์ม เพื่อปลูกผลผลิตภายในร้านขายของชำ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อผลิตผลที่เติบโตและใส่ไว้ในตู้เย็น ส่วนบริษัท ฮัดสันมิลค์
เป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวซึ่งเป็นพันธมิตรกับเกษตรกรในท้องถิ่นที่ผลิตอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งสินค้าของตนไปถึงประตูหน้าบ้านของลูกค้า

เรื่องราวเบื้องหลังของอาหารตามวัตถุประสงค์
นอกจากความเป็นท้องถิ่นแล้ว ผู้บริโภคจำนวนมากยังสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหลังของบริษัทอาหารตามวัตถุประสงค์เช่น การดำเนินธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น ความหมายเบื้องหลังผลิตภัณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผลจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตขึ้นมานั้นเหนือคู่แข่งได้
เพราะบรรจุภัณฑ์ที่ดีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ผลิตภัณฑ์น่าสนใจอีกต่อไป ตัวอย่างของแบรนด์ที่มีเรื่องราวเบื้องหลังที่ยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เฟลิเซ็ตติพาสต้า เป็นธุรกิจพาสต้าที่เกิดขึ้นในเมืองเพรดาซโซ่ ประเทศอิตาลี เมื่อปี 1908 และดำเนินกิจการผ่านครอบครัวซึ่งสืบทอดกันมาหลายรุ่น
โยเกิร์ตไวท์มัสแทช เป็นโยเกิร์ตดั้งเดิมของธุรกิจครอบครัวที่ใช้แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและส่วนผสมที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุดเพื่อให้โยเกิร์ตที่ได้ที่มีรสชาติอร่อยและดีต่อสุขภาพ
หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาหารตามวัตถุประสงค์จะเป็นแนวโน้มที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ วัตถุประสงค์ที่ว่านั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นท้องถิ่นและเรื่องราวเบื้องหลังของอาหาร
นอกจากจะสะท้อนถึงประโยชน์ของความเป็นท้องถิ่นแล้ว แนวทางปฏิบัติด้านอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้นจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสนับสนุน เพราะแทนที่จะต่อสู้กันระหว่างสองสิ่งที่สุดขั้ว (เช่น มังสวิรัติกับการบริโภคเนื้อสัตว์) ก็จะเน้นไปที่อาหารที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศต่ำที่สุดแทน
เครดิตภาพจาก pixabay.com
#อาหารตามวัตถุประสงค์ #กินอะไรดี #โควิด19